เกี่ยวกับเรา
ประวัติกองแพทยศาสตร์ศึกษา
รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ มีการปรับปรุงมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาล จนเป็นที่ยอมรับของแพทยสภา ให้เป็นโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์น (Intern) ปฎิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และเริ่มเปิดการอบรมหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์ประจำบ้าน (Resident) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2517
รพ.ภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศ มีการปรับปรุงมาตรฐานและพัฒนาศักยภาพการรักษาพยาบาล จนเป็นที่ยอมรับของแพทยสภา ให้เป็นโรงพยาบาลเพื่อให้แพทย์ฝึกหัดหรือแพทย์อินเทิร์น (Intern) ปฎิบัติงานตั้งแต่ปี พ.ศ. 2506 และเริ่มเปิดการอบรมหลักสูตรแพทย์เฉพาะทางหรือแพทย์ประจำบ้าน (Resident) ขึ้นเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ.2517 โดยสาขาที่เปิดฝึกอบรมเป็นสาขาแรกของโรงพยาบาล และเป็นสถาบันแรกของประเทศ คือ สาขาเวชปฏิบัติทั่วไป ปัจจุบันมีการเปิดอบรมแพทย์ประจำบ้าน 10 สาขา และแพทย์ประจำบ้านต่อยอด 8 สาขา
สำหรับหลักสูตรแพทยศาสตรบัณฑิต โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช พอ. เริ่มต้นเป็นสถาบันผลิตแพทย์ ในโครงการผลิตแพทย์ร่วมระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกองทัพอากาศ หรือ “โครงการการศึกษาแพทย์แนวใหม่” มีพิธีเปิดโครงการอย่างเป็นทางการ ในวันศุกร์ที่ 27 พฤษภาคม พ.ศ.2531 ในขณะนั้นมี พลอากาศเอกวรนาถ อภิจารี เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ และ ศาสตราจารย์นายแพทย์จรัส สุวรรณเวลา เป็นคณบดีคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตแพทย์จากผู้ที่จบการศึกษาดับปริญญาตรี มีการเปิดรับผู้เข้าศึกษาตั้งแต่ปี พ.ศ.2531 เป็นปีการศึกษาแรก โดยใน 2 ปีแรกเป็นการเรียนวิชาพรีคลินิก ณ คณะแพทยศาสตร์จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และใน 3 ปี ต่อมาเป็นการเรียนวิชาคลินิก ณ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช
โดยมีการลงนามข้อตกลงในความร่วมมือโครงการผลิตแพทย์แนวใหม่ระหว่างจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและกองทัพอากาศอย่างต่อเนื่อง เมื่อวันที่ 19 มีนาคม พ.ศ.2533 และวันที่ 15 กันยายน พ.ศ.2543 โครงการผลิตแพทย์แนวใหม่นี้ดำเนินมาได้ทั้งหมด 19 รุ่น จนกระทั่งปี พ.ศ. 2548 กระทรวงสาธารณสุขได้เสนอโครงการแก่รัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนบุคลากรทางการแพทย์ รวมถึงการเพิ่มการผลิตแพทย์เพื่อชาวชนบท ผู้บริหารของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และกรมแพทย์ทหารอากาศ จึงได้มีการประชุมและมีข้อตกลงร่วมกันปรับเปลี่ยนโครงการผลิตแพทย์แนวใหม่ที่ได้ดำเนินการอยู่เดิม เข้าสู่โครงการผลิตแพทย์เพิ่มเพื่อชาวชนบท ของกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งจะรับผู้ที่จบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย และมีภูมิลำเนาหรือศึกษาอยู่ในพื้นที่ชนบทที่กำหนด ในอัตราปีละ 30 คน นิสิตแพทย์ในโครงการนี้ จะเริ่มเข้ารับการศึกษาตั้งแต่ชั้นปีที่ 1 โดยชั้นพรีคลินิกจะศึกษาที่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยเป็นเวลา 3 ปี และมาศึกษาในสถาบันของกรมแพทย์ทหารอากาศในชั้นคลินิกอีก 3 ปี รวมเวลาทั้งสิ้น 6 ปี
ต่อมาเมื่อวันที่ 18 ธันวาคม พ.ศ.2555 คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติโครงการผลิตแพทย์เพิ่มแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2556 - 2560 มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตแพทย์เพิ่มให้เพียงพอต่อความต้องการด้านบริการทางการแพทย์และสาธารณสุขของประเทศ ลดปัญหาการขาดแคลนแพทย์และแก้ปัญหาการกระจายแพทย์ตามภูมิภาค โดยอยู่ในโครงการรับตรงของคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และตั้งแต่ปีการศึกษา 2561 จะเปลี่ยนระบบการคัดเลือกเป็นการรับตรงร่วมกับกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (กสพท) โดยมีอัตราการรับปีละ 30 คน และสถานที่เรียนเช่นเดียวกับระบบเดิม
สำหรับโครงการผลิตแพทย์ร่วมระหว่างกองทัพอากาศ กับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มีพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือครั้งล่าสุด ในวันศุกร์ที่ 21 กันยายน พ.ศ.2555 ณ ห้องรับรองพิเศษ กองบัญชาการกองทัพอากาศ โดยผู้บัญชาการทหารอากาศ พลอากาศเอกอิทธพร ศุภวงศ์ และอธิการบดี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ศาสตราจารย์นายแพทย์ ภิรมย์ กมลรัตนกุล เป็นผู้ลงนาม
สรุปประวัติโครงการผลิตแพทย์ร่วมระหว่างกองทัพอากาศกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เพื่อให้การดำเนินการต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการฝึกศึกษาอบรม เป็นไปได้ด้วยดีและมีประสิทธิภาพ โรงพยาบาลภูมิพลอดุลยเดช กรมแพทย์ทหารอากาศจึงได้จัดตั้งหน่วยเลขานุการการแพทย์ เมื่อวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2533 ซึ่งต่อมาได้ยกระดับขึ้นเป็นหน่วยแพทยศาสตร์ศึกษา และกองแพทยศาสตร์ศึกษา ในปี พ.ศ.2537 และ พ.ศ.2539 ตามลำดับ